สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ใช้ที่ดินของผู้อื่นเป็นทางผ่านโดยถือวิสาสะ ได้ภาระจำยอมหรือไม่

ทางพิพาทในที่ดินของจำเลยทั้ง 3 แปลง เดิมเป็นทางเกวียนมาก่อน บิดาโจทก์และโจทก์รวมทั้งชาวบ้านใช้ทางพิพาทเข้าออกไปมาจากหมู่บ้านไปทุ่งนาก่อนที่จะมีคลองชลประทาน จนกระทั่งปี 2523 ได้ขุดทางเกวียนเป็นคลองส่งน้ำจากคลองชลประทานแล้วใช้ที่ดินที่ขุดทางเกวียนถมเป็นทางพิพาท แต่กลับได้ความจากคำเบิกความของ บ. บิดาโจทก์ว่า ที่ดินที่ บ. ไปทำนาคือที่ดินที่เช่าจาก ศ. เจ้าของเดิมก่อนขายที่ดินให้แก่จำเลยทั้ง 3 แปลง บ. กับชาวบ้านใช้ทางพิพาทเดิมไปทำนาเพียงให้วัวควายเทียมเกวียนลากข้าวผ่านเป็นประจำ ไม่ปรากฏว่ามีการใช้ทางพิพาทออกไปสู่ทางสาธารณะใด การใช้ทางพิพาทเป็นทางวัวควายเดินผ่านที่ดินไปทำนาเป็นการใช้ทางพิพาทโดยวิสาสะตามประเพณีของชาวบ้านซึ่งอยู่ใกล้เคียงกันเดินผ่านที่ดินของบุคคลอื่นไปเท่านั้น แม้มีการขุดทางเกวียนเป็นคูน้ำแล้วนำดินมาถมเป็นทางพิพาทเมื่อปี 2523 ก็ปรากฏว่าบิดา ศ. ให้ บ. เป็นผู้ดูแลเข้าทำประโยชน์ในที่ดินทั้ง 3 แปลง ลักษณะดังกล่าวเป็นการใช้ทางพิพาทโดยบิดา ศ. และ ศ. เป็นผู้ให้ความยินยอมและหลังจาก ศ. ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 9259 และ 3365 ให้แก่จำเลยเมื่อปี 2532 และปี 2535 บ. ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 33383 ที่ บ. เบิกความว่าซื้อจาก ศ. ให้แก่จำเลย จำเลยยกร่องคันดินทำเป็นสวนส้มและทำประตูและรั้วปิดกั้นทางเข้าออกทางพิพาท โจทก์ได้รับมอบกุญแจจากจำเลยเพื่อใช้ปิดเปิดประตูรั้วเข้าออกทางพิพาทเป็นการแสดงว่าโจทก์ใช้ทางพิพาทเป็นทางผ่านโดยวิสาสะหรือโดยได้รับอนุญาตจากจำเลย พยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าโจทก์ใช้ทางพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาให้เป็นภาระจำยอม แม้โจทก์จะใช้ทางพิพาทนานเพียงใด ทางพิพาทก็ไม่ตกเป็นภาระจำยอมโดยอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1401 ประกอบมาตรา 1382

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3996/2554

 

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาว่า ทางพิพาทตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ หรือเป็นทางสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ให้จำเลยไปจดทะเบียนภาระจำยอม หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยและให้จำเลยรื้อถอนประตูรั้วเหล็กที่ปิดกั้นทางพิพาท

จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนจำเลย 1,500 บาท

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ฎีกาโต้เถียงกันฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 49388 ตำบลดอนโพธิ์ทอง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 9259 ตำบลดอนกำยาน อำเภอเมืองสุพรรณบุรี (ท่าพี่เลี้ยง) จังหวัดสุพรรณบุรี ที่ดินโฉนดเลขที่ 3365 ตำบลดอนกำยาน อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี และที่ดินโฉนดเลขที่ 33383 ตำบลดอนโพธิ์ทอง (ดอนกำยาน) อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี ทางพิพาทปรากฏตามแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ. 8 ติดต่อกับถนนสายดอนกุ่มทิพย์ - วังน้ำเย็น มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ทางพิพาทตกอยู่ในภาระจำยอมแก่ที่ดินโจทก์หรือไม่ โจทก์นำสืบว่า ทางพิพาทในที่ดินของจำเลยทั้ง 3 แปลง เดิมเป็นทางเกวียนมาก่อน บิดาโจทก์และโจทก์รวมทั้งชาวบ้านใช้ทางพิพาทเข้าออกไปมาจากหมู่บ้านไปทุ่งนาก่อนที่จะมีคลองชลประทาน จนกระทั่งปี 2523 ได้ขุดทางเกวียนเป็นคลองส่งน้ำจากคลองชลประทานแล้วใช้ดินที่ขุดทางเกวียนถมเป็นทางพิพาท แต่กลับได้ความจากคำเบิกความของนายบัวคลี่ พยานโจทก์ซึ่งเป็นบิดาโจทก์ว่า ที่ดินที่นายบัวคลี่ไปทำนาคือที่ดินที่เช่าจากนายศุภชัย เจ้าของเดิมก่อนขายที่ดินให้แก่จำเลยทั้ง 3 แปลง นายบัวคลี่กับชาวบ้านใช้ทางพิพาทเดิมไปทำนาเพียงให้วัวควายเทียมเกวียนลากข้าวผ่านเป็นประจำ ไม่ปรากฏว่ามีการใช้ทางพิพาทออกไปสู่ทางสาธารณะใด ทั้งนายบัวคลี่เบิกความว่า ถนนสายดอนกุ่มทิพย์ - วังน้ำเย็น เพิ่งสร้างได้ประมาณ 3 ปี การใช้ทางพิพาทเป็นทางวัว

ควายเดินผ่านที่ดินไปทำนาเป็นการใช้ทางพิพาทโดยวิสาสะตามประเพณีของชาวบ้านซึ่งอยู่ใกล้เคียงกันเดินผ่านที่ดินของบุคคลอื่นไปเท่านั้น แม้มีการขุดทางเกวียนเป็นคูน้ำแล้วนำดินมาถมเป็นทางพิพาทเมื่อปี 2523 ก็ปรากฏว่าบิดานายศุภชัยให้นายบัวคลี่เป็นผู้ดูแลเข้าทำประโยชน์ในที่ดินทั้ง 3 แปลง ลักษณะดังกล่าวเป็นการใช้ทางพิพาทโดยบิดานายศุภชัยและนายศุภชัยเป็นผู้ให้ความยินยอม และหลังจากนายศุภชัยขายที่ดินโฉนดเลขที่ 9259 และ 3365 ให้แก่จำเลยเมื่อปี 2532 และปี 2535 นายบัวคลี่ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 33383 ที่นายบัวคลี่เบิกความว่าซื้อจากนายศุภชัยให้แก่จำเลย จำเลยยกร่องคันดินทำเป็นสวนส้ม และทำประตูและรั้วปิดกั้นทางเข้าออกทางพิพาทตามภาพถ่ายหมาย จ. 14 และ ล. 2 ซึ่งได้ความจากคำเบิกความของโจทก์และจำเลยว่า โจทก์ได้รับมอบกุญแจจากจำเลยเพื่อใช้ปิดเปิดประตูรั้วเข้าออกทางพิพาท เป็นการแสดงว่าโจทก์ใช้ทางพิพาทเป็นทางผ่านโดยวิสาสะหรือโดยได้รับอนุญาตจากจำเลย พยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าโจทก์ใช้ทางพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาให้เป็นภาระจำยอม แม้โจทก์จะใช้ทางพิพาทนานเพียงใด ทางพิพาทก็ไม่ตกเป็นภาระจำยอมโดยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 ประกอบมาตรา 1382

ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ทางพิพาทเป็นทางสาธารณะหรือไม่ เห็นว่า ตามคำเบิกความของนายศุภชัยและนายบัวคลี่พยานโจทก์ ซึ่งเป็นผู้ขายที่ดินให้แก่จำเลยไม่ปรากฏว่าทั้งนายศุภชัยและนายบัวคลี่ได้อุทิศที่ดินที่เป็นทางพิพาทให้เป็นทางสาธารณะก่อนขายให้แก่จำเลย ทั้งการที่โจทก์รับกุญแจจากจำเลยเพื่อใช้ปิดเปิดประตูรั้วเข้าออกทางพิพาทย่อมเป็นการแสดงว่าทางพิพาทไม่ใช่ทางสาธารณะ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 1,500 บาท แทนจำเลย

บทความที่น่าสนใจ

-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่

-ด่ากันทางโทรศัพท์

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก

-การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม

-การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

-การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร